ข่าวประชาสัมพันธ์



ศวท-มช. ร่วมมือกรมวิทยาศาสตร์บริการยกระดับมาตรฐานสินค้า OTOP

ศูนย์บริการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่  (ศวท-มช.)  ร่วมกับกรมวิทยาศาสตร์บริการ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จัดพิธีปิดโครงการ พัฒนาคุณภาพสินค้าผลิตภัณฑ์ชุมชนประเภทอาหารและเครื่องดื่มในภาคเหนือ”  ซึ่งได้รับเกียรติจาก ดร.สุทธิเวช ต.แสงจันทร์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์บริการกล่าวปิดโครงการ คุณนงนุช เมธียนต์พิริยะ ผู้อำนวยการโครงการวิทยาศาสตร์กล่าว รายงานความเป็นมาของโครงการ และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. สกุณณี บวรสมบัติ ผู้อำนวยการศวท-มช.กล่าวรายงานการจัดพิธีปิด โดยมีรองศาสตราจารย์ ดร. ปิยะพงศ์ เนียมทรัพย์ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผู้บริหารคณะวิทยาศาสตร์ ผู้ประกอบการ สื่อมวลชน และผู้มีเกียรติเข้าร่วมงาน เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2558 ณ โรงแรมแคนทารี่ฮิลล์ จังหวัดเชียงใหม่ ภายในงานมีการมอบเกียรติบัตรให้กับผู้ประกอบการ และการจัดแสดงสินค้าผลิตภัณฑ์ชุมชนในโครงการฯ

โครงการ “พัฒนาคุณภาพสินค้าผลิตภัณฑ์ชุมชนประเภทอาหารและเครื่องดื่มในภาคเหนือ” จัดตั้งขึ้นเพื่อผลักดันให้มีการนำองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไปประยุกต์ใช้ในการพัฒนาผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์ชุมชน (OTOP) ประเภทอาหารและเครื่องดื่ม ในเขตจังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน และลำปาง ให้มีศักยภาพในการผลิตสินค้าให้ได้คุณภาพตามมาตรฐาน โดยได้รับความร่วมมือจากคณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ คณะวิศวกรรมและอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยพายัพ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนาลำปาง และสถาบันวิจัยเทคโนโลยีเกษตร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ซึ่งในการดำเนินการตามโครงการนั้นทีมอาจารย์ที่ปรึกษาซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยต่างๆ  ได้ลงพื้นที่ให้คำแนะนำแก่ผู้ประกอบการในกระบวนการผลิตสินค้าทุกขั้นตอน เพื่อให้สินค้ามีคุณภาพ สามารถเข้าสู่กระบวนการยื่นขออนุญาตผลิตสินค้าต่อสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) หรือขอรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน (มผช.) ได้  ซึ่งจะนำไปสู่การยกระดับขีดความสามารถของชุมชนในการแข่งขัน ทั้งในระดับชาติและนานาชาติ และช่วยให้ผู้ประกอบการมีรายได้มากยิ่งขึ้น

การดำเนินโครงการดังกล่าวถือว่าประสบความสำเร็จอย่างดียิ่ง เนื่องจากมีผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์ชุมชนประเภทอาหารและเครื่องดื่มได้พัฒนาสินค้าจนสามารถยื่นขอรับรองมาตรฐาน อย. จำนวน 9 ผลิตภัณฑ์ ยื่นขอมาตรฐาน มผช. จำนวน 17 ผลิตภัณฑ์ และมีโรงเรือนที่ได้รับการปรับปรุงคุณภาพ จำนวน 6 แห่ง

ดร.สุทธิเวช ต.แสงจันทร์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์บริการ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า “กรมวิทยาศาสตร์บริการเล็งเห็นถึงความสำคัญของสินค้าผลิตภัณฑ์ชุมชน (OTOP) ซึ่งช่วยสร้างรายได้ให้กับชุมชน และส่งเสริมเศรษฐกิจของประเทศ จึงมีนโยบายผลักดันให้มีการนำองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไปช่วยแก้ไขปัญหา หรือยกระดับมาตรฐานสินค้าให้ดียิ่งขึ้น เพื่อความปลอดภัย สร้างความเชื่อมั่น และเพิ่มมูลค่าสินค้า อันจะนำไปสู่ความสามารถในการแข่งขันของชุมชนในระดับสากล กรมวิทยาศาสตร์บริการจึงได้ร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ในท้องถิ่น เพื่อจัดตั้งโครงการนี้ขึ้น ซึ่งการดำเนินงานตามโครงการประสบความสำเร็จตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ทุกประการ จึงขอขอบคุณทีมอาจารย์ที่ปรึกษาทุกท่าน และขอแสดงความชื่นชมยินดีกับผู้ประกอบการทุกท่านที่มีความตั้งใจในการปรับปรุงผลิตภัณฑ์ ขอให้รักษามาตรฐานพร้อมทั้งพัฒนาให้มีคุณภาพยิ่งๆ ขึ้นไป”


วันที่ : 11 พฤศจิกายน 2015