การประชุมปิดโครงการและสรุปผลการดำเนินกิจกรรมอบรมโครงการค่ายวิทยาศาสตร์ศึกษาเพื่อนักเรียนด้อยโอกาส
เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2561 ศูนย์บริการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (ศวท-มช.)จัดการประชุมสรุปผลการดำเนินกิจกรรมอบรมค่ายวิทยาศาสตร์ศึกษาในโครงการวิทยาศาสตร์ศึกษาเพื่อนักเรียนด้อยโอกาส โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร. ธีรวรรณ บุญญวรรณ ผู้อำนวยการ ศวท-มช. เป็นประธานในการเปิดการประชุม พร้อมด้วย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. อภิวัฒน์ ธีรวุฒิกุลรักษ์ อาจารย์ประจำภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และเป็นวิทยากรประจำโครงการฯ กล่าวสรุปผลการดำเนินงานในการจัดกิจกรรมที่ผ่านมา พร้อมด้วยคูณปาริชาติ เภสัชชา ศึกษานิเทศก์สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเชียงใหม่เขต 2 กล่าวแสดงข้อคิดเห็น ณ ห้องพิณทอง โรงแรมเชียงใหม่แกรนด์วิว
โดยกิจกรรมดังกล่าวจัดขึ้นภายใต้โครงการบริการวิชาการเชิงวิเคราะห์และวิจัยส่งเสริมและสนับสนุนนโยบายด้านการศึกษา ประจำปี 2561 คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อสนับสนุนให้นักเรียนที่ห่างไกล ได้รับโอกาสในการเรียนรู้ กระบวนการทางด้านวิทยาศาสตร์ ผ่านการลงมือปฏิบัติการทดลองจริงด้วยตนเองโดยมีผู้เชี่ยวชาญคอยให้คำแนะนำอย่างใกล้ชิด โดยมีเป้าหมายการจัดกิจกรรมสำหรับนักเรียนที่ขาดโอกาส จำนวน 800 คน ซึ่งบัดนี้การจัดกิจกรรมอบรมค่ายวิทยาศาสตร์ดังกล่าวได้สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี โดยดำเนินการจัดกิจกรรมมาแล้วจำนวน 15 ครั้ง ให้กับโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการ 15 แห่ง ได้แก่ โรงเรียนบ้านเป้าวิทยาคาร โรงเรียนร่มหลวง โรงเรียนชุมชนวัดช่อแล โรงเรียนบ้านบวกหมื้อ โรงเรียนบ้านดอนปิน โรงเรียนบ้านศรีบุญเรือง โนงเรียนสอนคนตาบอดภาคเหนือ โรงเรียนโป่งแยงเฉลิมพระเกียรติ โรงเรียนบ้านทุ่งโป่ง โรงเรียนบ้านพระนอน โรงเรียนบ้านห้วยเกี๋ยง โรงเรียนโสตศึกษาอนุสารสุนทร โรงเรียนบ้านโป่งแยงใน โรงเรียนชลประทานเขื่อนแม่กวงฯ โรงเรียนบ้านสะลวงนอก ในเขตอำเภอแม่ริม อำเภอแม่แตง อำเภอสันทราย และอำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ โดยมีนักเรียนเข้าร่วมโครงการทั้งสิ้น 1,103 คน
ซึ่งการประชุมสรุปฯในครั้งนี้ มีศึกษานิเทศน์และผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องจากกลุ่มนิเทศติดตามและประเมินผลการศึกษา สพป.เชียงใหม่ เขต 2 ,ผู้อำนวยการโรงเรียน, ครูผู้ประสานงาน จากโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการจำนวน 15 แห่ง หัวหน้าโครงการฯ และผู้เกี่ยวข้อง รวมทั้งสิ้น 30 คน เข้าร่วมการประชุม เพื่อสรุปผลการดำเนินงาน และแจ้งการประเมินความพึงพอใจต่อการเข้าร่วมกิจกรรมของนักเรียน ตลอดจนแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเพื่อเป็นแนวทางในการจัดการเรียนรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ต่อไปในอนาคต พร้อมกันนี้หลังเสร็จสิ้นการเสวนาแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็น หัวหน้าโครงการฯ ได้มอบชุดหนังสือและอุปกรณ์การเรียนวิทยาศาสตร์ให้แก่ตัวแทนโรงเรียนทั้ง 15 แห่ง เพื่อใช้ประโยชน์ต่อการจัดการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ต่อไป